โรงเรียนวรรณสว่างจิต

สอนวินัยให้ลูกจากเรื่องใกล้ตัว

Show Image

สอนวินัยให้ลูกจากเรื่องใกล้ตัว “เล่นแล่วเก็บ”

    การฝึกวินัยให้ลูกสามารถเริ่มง่ายๆ ตั้งแต่ลูกวัยเตาะแตะ โดยมีคุณพ่อคุณแม่ หือผู้ดูแลเด็ก เป็นผู้ปฏิบัติให้ดูก่อน และใช้สถานการณ์ในบ้านเป็นเครื่องมือที่ดีในการฝึกหัด เด็กวัยอนุบาล จะเรียนรู้ผ่านการเล่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก จึงสามารถฉวยโอกาสนี้มาฝึกวินัยให้ลูกได้

 ซึ่งการเก็บของเล่นให้เข้าที่หลังจากเล่นเสร็จแล้ว  จะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กมีระเบียบวินัย และยังเป็นการปูทางไปสู่การฝึกมารยาทในการเล่นกับคนอื่น รวมไปถึงมีน้ำใจรู้จักช่วยคนอื่นเก็บสิ่งของอีกด้วย

  ระหว่างการเก็บของเล่น คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก   อาจเพิ่มเติมคำสอนคำอธิบายง่ายๆ ถึงข้อดีในการเก็บของเล่นเสริมเข้าไปด้วย เช่น “ถ้าหนูเก็บของเล่นเป็นระเบียบแบบนี้ พรุ่งนี้หนูก็จะหาของเล่นมาเล่นได้ง่าย แต่ถ้าลูกเล่นแล้วไม่เก็บอาจจะเหยียบของเล่นเจ็บเท้า หกล้มได้นะคะ”

สนุกเล่น…สนุกเก็บ

หากลูกอิดออดไม่ยอมเก็บของเล่นขึ้นมา ลองใช้กิจกรรมสนุกๆ ต่อไปนี้ ช่วยกระตุ้นความสนใจ ลูกจะได้รู้สึกว่าเก็บของเล่นไม่ได้น่าเบื่อแต่อย่างใด ลองไปใช้กันดูนะ

  เกม : การเล่นเกมที่แฝงไปด้วยความสนุกสนาน คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งกติกาขึ้นมาง่ายๆ เช่น

- มาแข่งกันดีไหมว่าใครจะเก็บของเล่นเสร็จก่อนกัน
ลูกเก็บของเล่นอันเล็ก แม่เก็บอันใหญ่

  นิทาน : ถ้าคุณแม่หรือคุณพ่อเป็นนักเล่านิทานตัวยง ลองแต่งนิทานสั้นๆ เพื่อให้ลูกเก็บของเล่นดูสิคะ

- ลูกเป็ดน้อยสีเหลือง คิดถึงบ้านจังเลย ลูกลองพาเป็ดน้อยกลับบ้านทีสิจ๊ะ
- ตุ๊กตาหมีออกมาเที่ยวนานแล้ว เรามาพาเจ้าหมีน้อยตัวนี้กลับบ้านไปกินข้าวเย็นกันเถอะจ้ะ
คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูเด็ก ลองทำเสียงเป็นของเล่นบ้างก็ได้ เช่น หากเป็นตุ๊กตาหมีก็บอกว่า ช่วยพาพี่หมีน้อยกลับบ้านทีนะ

  เพลง : คุณพ่อคุณแม่จะลองเอาเสียงเพลงมาเป็นตัวกระตุ้นลูกน้อยก็ได้ค่ะ เช่น

- พอคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลเด็ก  ร้องเพลงจบแล้ว เรามาช่วยกันเก็บของเล่นกันนะ
- เพลงเพราะจังเลยลูก เรามาร้องเพลงไปเก็บของเล่นไปกันเถอะ

เจ้าหนูยังเล็ก … ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึก

หากลูกเกิดอาการเกเร ไม่สนใจ งอแง ไม่ยอมเก็บของเล่นที่วางเกลื่อนกราดอยู่ในห้องแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก ควรใจเย็นไว้ก่อน อย่าเพิ่งโมโห บังคับ หรือทำโทษ  เพราะบางครั้งการที่ลูกไม่ทำตามสิ่งที่คุณต้องการ อาจเป็นเพราะเขากำลังเพลิดเพลิน หรือกำลังมีสมาธิอยู่กับของเล่นตรงหน้า ทางที่ดีควรค่อยๆ ฝึกฝนลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่คาดหวังมากจนเกินไป เพราะถึงอย่างไร ลูกก็เป็นเพียงเด็กเล็กๆ ที่รักการเล่นมากกว่าสิ่งอื่น

- คุณอาจจะให้เวลากับลูกสักพักรอจนเขาเริ่มเบื่อของเล่นแล้วค่อยๆ ตะล่อมให้เขาเก็บ
- บอกเกริ่นกับลูกล่วงหน้าว่า เดี๋ยวลูกต้องเลิกเล่นเพราะต้องไปอาบน้ำนะ อย่าลืมเก็บของเล่นก่อนล่ะ
- ใช้เรื่องอื่นเป็นสิ่งล่อใจ เช่น เก็บเสร็จแล้วเราไปอ่านหนังสือนิทานกันต่อ เป็นต้น
- ยึดหลักสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำบ้างไม่ทำบ้าง
- คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่าง เก็บให้ดู
- อย่าลืมชื่นชม ให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้
- หากล่องหรือลังใบใหญ่ สีสันสดใส เพื่อดึงดูดใจ

  • Hits: 4979